เลือกซื้อของขวัญให้ผู้ใหญ่อย่างไร
เพื่อสร้างความประทับใจ
การเลือกซื้อของขวัญให้ผู้ใหญ่ คนไทยนิยมซื้อหาของขวัญให้ผู้ใหญ่
เนื่องในวาระต่างๆ ดังนี้
1. ของขวัญให้ผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยม กล่าวคือ
ประเพณีของสังคมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีหมั้นและแต่งงาน ประเพณีบวช เป็นต้น
2. ของขวัญให้ผู้ใหญ่ตามเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันครู วันตรุษจีน วังสงกรานต์ วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ เป็นต้น
3. ของขวัญให้ผู้ใหญ่ตามวาระและโอกาสพิเศษต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 วาระใหญ่ๆ ดังนี้
- 1) โอกาสแสดงการต้อนรับ ได้แก่ การต้อนรับสมาชิกใหม่
/ เจ้านายใหม่ การต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมกิจการ/หน่วยงาน เป็นต้น
- 2) โอกาสแสดงความยินดี ได้แก่ วันคล้ายวันเกิด วันสำเร็จการศึกษา
วันขึ้นบ้านใหม่ วันเปิดกิจการใหม่ วันแต่งงาน วันคลอดบุตร ได้เลื่อนตำแหน่งใหม่ วันเปิดตัวสินค้า/ผลิตภัณฑ์ใหม่
เป็นต้น
- 3) โอกาสแสดงความเสียใจ ได้
การเยี่ยมไข้ งานเลี้ยงปลอบขวัญ งานศพ เป็นต้น
- 4) โอกาสแสดงความขอบคุณ ได้แก่
วันเกษียณอายุ วันแซยิด งานแสดงมุทิตาจิต งานขอบคุณลูกค้าเป็นต้น
เทคนิคการเลือกซื้อของขวัญผู้ใหญ่
เพื่อสร้างความประทับใจ
1. ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ใหญ่จะได้รับ เช่น
1.1
เพื่อบำรุงร่างกาย ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม วิตามิน ผลไม้ ยาจีน สมุนไพร บำรุงสุขภาพ
1.2
เพื่อเสริมความรู้ ได้แก่ หนังสือ / ซีดี
สำหรับการดูแล สุขภาพกาย สุขภาพจิต การท่องเที่ยว การตกแต่งบ้าน งานศิลปะ ธรรมะ
เป็นต้น
1.3 เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป
เป็นต้น
1.4 เพื่อสันทนาการ ได้แก่
ตั๋วเดินทางท่องเที่ยว บัตรที่พักโรงแรม ตั๋วชมคอนเสิร์ต ตั๋วชมภาพยนตร์
บัตรรับประทานอาหาร คูปองตรวจสุขภาพ เป็นต้น
1.5
เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ได้แก่ พระพุทธรูป รูปปั้นองค์เทพต่างๆ พระเครื่อง เป็นต้น
1.6 เพื่อให้กำลังใจ
ได้แก่ กระเช้าดอกไม้ กรอบรูปสวยๆ เป็นต้น
1.7
เพื่อให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก ได้แก่ กรอบรูป ต้นไม้ แจกัน ตู้โชว์ งานปะติมากรรม
งานศิลปะ เครื่องเบญจรงค์ ชุดภาชนะเครื่องแก้ว งานทองเหลือง แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร
ของสะสม เป็นต้น
1.8 เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องประดับ
ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าซิ่น (ที่เนื้อผ้าละเอียด มีสีสันสวยงาม) เนคไท ผ้าพันคอ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แหวน เข็มกลัด เข็มขัด แว่นกันแดด เป็นต้น
1.9 เพื่อให้เป็นของใช้ประจำตัว
(สำหรับคนสนิทที่เรารู้รสนิยมของเขา) ได้แก่ น้ำหอม เครื่องสำอาง
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ นาฬิกา ปากกา หมวก กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ
กระเป๋าใส่เอกสาร ร่ม พวงกุญแจ เป็นต้น
1.10 เพื่อเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกาย
ได้แก่ ไม้ตีกอล์ฟ ลูกกอล์ฟ ไม้แบดมินตัน ไม้เทนนิส ลู่วิ่งสายพาน ชุดโยคะ
ชุดแอโรบิก เสื้อสะท้อนแสง(ปั่นจักรยาน) เป็นต้น
เทคนิคการเลือกซื้อของขวัญผู้ใหญ่
เพื่อสร้างความประทับใจ
2. ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1
เพศ ได้แก่ เพศชาย เพศหญิง หรือ เพศที่สาม
เพราะมุมมองในการรับของขวัญจะแตกต่างกัน ผู้ชายมีความคาดหวังจะได้รับของขวัญที่ดูเรียบหรู
มีระดับ ใช้ประโยชน์ได้ หรือเก็บสะสมแล้วมีราคาสูงขึ้น ยิ่งเป็นพวกอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆที่กำลังเป็นที่นิยม ยิ่งถูกใจ สีสันเน้นโทนขรึมๆ
หรือสีพื้นๆ ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่คาดหวังจะได้รับของขวัญที่ดูสวยงาม สีสันสดใส
ชวนฝัน สามารถสะสมเป็นคอลเลคชั่นได้ ของขวัญอาจจะไม่เน้นมูลค่าสูงนัก ขอให้ดูทันสมัย
ใช้ได้ในโอกาสต่างๆ ส่วนเพศที่สาม จะเน้นของที่ดูแปลกแหวกแนว มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
2.2
อายุ ได้แก่ ช่วง 20-29 ปี, ช่วง 30-39 ปี, 40 – 49 ปี, 50-59 ปี, 60
ปีขึ้นไป ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ มีความรู้สึกและความต้องการที่แตกต่างกันมาก ช่วงอายุน้อยๆอยากได้ของขวัญที่ดูล้ำสมัย
โก้เก๋ เพื่ออวดคนอื่นได้ พอวัยถัดมาอยากได้ของขวัญที่มีราคาสูง
เพื่อตอบสนองความรู้สึกตัวเองมีคุณค่า มีค่าตัวแพงขึ้น ส่วนวัยกลางคนไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งผู้บริหาร
จึงมีความรู้สึกต้องการของขวัญที่บ่งบอกถึงรสนิยมว่ามีระดับมาตรฐานที่สูง จึงอยากได้ของขวัญที่ดูเรียหรู
มีระดับ เพื่อไว้ประดับบารมี พอวัยใกล้เกษียณ เป็นช่วงที่ผู้ใหญ่มีหน้าที่การงานเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดและเริ่มมีปัญหาสุขภาพกันเยอะขึ้น
จึงมีความรู้สึกอยากได้ของขวัญที่ทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ส่งเสริมและให้กำลังใจ
ในเรื่องหน้าที่การงานและการดูแลสุขภาพ มากกว่าจะเน้นของขวัญราคาแพงๆไว้อวดบารมีเหมือนแต่ก่อน และถ้าจะให้ประทับใจ ตรงวัย ควรสอบถามบุคคลที่อยู่ในวัยเดียวกัน
บุคลิกคล้ายๆกัน ว่ามีความสนใจเรื่องอะไร อยากได้อะไรบ้าง ของขวัญรุ่นไหนที่นิยม
ฯลฯ เพื่อเอามาเป็นไอเดียในการเลือกซื้อของขวัญ
2.3
ตำแหน่งหน้าที่การงาน ได้แก่ ข้าราชการ (ยศ
ตำแหน่ง หน่วยงาน) พนักงานเอกชน (ตำแหน่ง หน้าที่รับผิดชอบ) เจ้าของกิจการ
ผู้บริหาร เป็นต้น ข้อนี้สำคัญ เพราะหากให้ของขวัญที่ดูด้อยกว่าสถานะของผู้รับ
อาจจะถูกมองกลับในเชิงลบได้ ถ้าจะเลือกของใช้หรือของบริโภค ควรเลือกที่มีแบรนด์เนม
เพื่อแสดงว่าได้รับการประกันคุณภาพในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพวกของตกแต่งบ้าน หรือของตกแต่งห้องทำงาน
ควรเลือกของที่ดูสวยงาม เรียบหรู และมีความหมายเป็นสิริมงคล
2.4
วิธีการส่งมอบของขวัญ ได้แก่ มอบด้วยตนเอง
ส่งทางไปรษณีย์ ฝากคนนำไปมอบให้ เป็นต้น หากต้องส่งของทางไปรษณีย์
จะได้เลือกของขวัญที่ไม่ตกแตกแล้วเสียหายง่าย
2.5
ราคาของขวัญ ได้แก่ จ่ายเพียงคนเดียว หรือมีคนช่วยแชร์ หรือมีงบประมาณจากหน่วยงาน เป็นต้น หากมีงบเยอะโอกาสที่จะเลือกของขวัญได้หลากหลายประเภทยิ่งมากขึ้น
ถ้าต้องจ่ายเพียงคนเดียว ควรเลือกซื้อของขวัญที่ชิ้นเล็กลง เน้นแพคเกจหีบห่อ
ประณีต เรียบร้อย สวยงาม แล้วเขียนการ์ดอวยพรด้วยลายมือบรรจง เพื่อสื่อถึงความตั้งใจที่จะทำให้ผู้รับรู้สึกประทับใจ
2.6
คุณภาพของขวัญ ได้แก่ ลักษณะภายนอกดูแข็งแรง ไม่มีตำหนิ สีสันสวยงามคงทน
เก็บรักษาได้นาน ไม่เสื่อมสภาพเร็ว เป็นต้น ข้อนี้ก็สำคัญ เพราะหากซื้อของขวัญที่ไม่มีคุณภาพให้
ย่อมสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผู้รับ เสมือนเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
2.7
ความสวยงาม ได้แก่ รูปลักษณ์ดูดี สีสันสวยงาม ประณีต มีแพคเกจและหีบห่อที่สวยงาม
หากหลีกเลี่ยงได้ ไม่ควรห่อด้วยหนังสือพิมพ์ ถุงก๊อบแก๊บ หรือกระดาษที่ยับยู่ยี่ มัดด้วยเชือกกล้วย
หรือในทำนองที่ว่า หยิบฉวยอะไรมาห่อก็ได้ เพราะจะทำให้ผู้รับรู้สึกไม่ดีต่อผู้ให้ ข้อนี้จะเป็นส่วนที่สร้างความประทับใจหรืออาจทำให้รู้สึกไม่พอใจตัวผู้ให้เป็นอย่างมาก
ที่มา : www.smegift.com